รวม 5 ทริก : ดูแลอารมณ์ด้วยศิลปะจากเวิร์คชอป Emotional Toolkit

การจัดการอารมณ์ถือเป็นทักษะหนึ่งที่สำคัญมากๆ แต่เป็นทักษะที่โรงเรียนไม่ได้สอน ตั้งแต่เด็ก เวลาเราโกรธหรือเสียใจ เรามักจะถูกสอนให้อดทนอดกลั้น หรือเก็บกดอารมณ์เอาไว้ มากกว่าจะถูกสอนให้สำรวจ ทำความเข้าใจ เรียนรู้ที่จะปลดปล่อยและจัดการกับอารมณ์อย่างปลอดภัย หลายครั้งเราจึงได้เผชิญหน้ากับอารมณ์อีกที ก็ตอนที่มัน ‘ระเบิด’ ไม่ก็ ‘พรั่งพรู’ ออกมาแบบที่ยากจะควบคุมไปซะแล้ว

ในเวิร์คชอปออนไลน์ Emotions Toolkit เราจะได้มาเข้าใจอารมณ์ เรียนรู้การจัดการกับอารมณ์อย่างปลอดภัยด้วยศิลปะ ก่อนจะถึงเวิร์คชอปจริง เราเลยขอหยิบทริกเล็กๆ น้อยๆ จากเวิร์คชอปครั้งก่อนมาแชร์ให้ฟัง เผื่อใครจะลองนำไปทำดู ได้ผลยังไงมาแชร์ด้วยนะ

หลายครั้ง ‘อารมณ์’ เป็นสิ่งคลุมเครือ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะบอกว่าตอนนี้เรากำลังรู้สึกอะไรหรือมีอารมณ์อะไรอยู่ วิธีหนึ่งที่ศิลปะช่วยได้คือลองใช้การลากลายเส้นช่วยเราสำรวจอารมณ์

เริ่มจากเตรียมกระดาษและสี ลองเลือก 1-2 สีที่เชื่อมโยงกับอารมณ์ที่มีตอนนี้ ลากลายเส้นบนกระดาษ ระบาย ปล่อยมือให้เป็นอิสระ ระหว่างกำลังวาด หากมีคำหรือวลีอะไรโผล่ขึ้นมาสามารถเขียนลงไปได้

ลองใช้เวลาประมาณ 5-10 นาทีกับตรงนี้ หลังจากเราเริ่มรับรู้อารมณ์ที่มี อาจลองเลือกหยิบอีก 1 สีที่เชื่อมโยงกับการดูแล หรือช่วยเยียวยาความรู้สึกของเราระบายลงไปตามที่ต้องการ เป็นอันจบกระบวนการ

สิ่งที่เราแนะนำเสมอกับคนทุกคนที่รับรู้ว่าตัวเองมีความเศร้าคือการเผชิญหน้า แม้มันจะเป็นกระบวนการที่ใช้พลังงานสูงในการรับมือกับความเปราะบาง แต่เราก็แนะนำให้ลองก้าวเข้าไปทีละน้อย อย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามแรงที่มี เพราะการไม่เผชิญหน้าหรือเก็บกักความเศร้าเอาไว้ ความเศร้าของเราก็จะยังคงอยู่ตรงไหนไม่หายไปไหน

กระบวนการที่เราแนะนำเพื่อเผชิญหน้ากับความเศร้าคือ ‘Free Writing’ การเขียนที่ปล่อยให้ความรู้สึกข้างในหลั่งไหลออกมาบนหน้ากระดาษโดยปราศจากการบังคับหรือควบคุม ลองเขียนโดยเริ่มต้นด้วยประโยคอย่าง ‘I feel’ หรือ ‘ฉันรู้สึก..’ เขียนต่อเนื่องไม่หยุด อาจจับเวลาให้ตัวเองสัก 5 นาที หรือนานจนกว่าจะรู้สึกได้ว่าความรู้สึกข้างในได้แสดงออกมาจนหมด หลังจากนั้นลองอ่านเพื่อสำรวจความเศร้าของเรา อาจทำให้เราเข้าใจที่มาที่ไปของมัน และข้ามผ่านมันไปได้ง่ายขึ้น

Clay หรือดินเหนียว คือวัสดุหนึ่งที่เหมาะกับการทำงานกับความโกรธ ด้วยธรรมชาติของดินเหนียวที่มีความยืดหยุ่น เปลี่ยนรูปได้ กลับมารวมกันใหม่ได้ เหมาะเหลือเกินสำหรับ express ความโกรธ

เมื่อไหร่ที่รู้สึกโกรธให้ลองนำดินเหนียวหรือดินน้ำมัน หยิบมาในน้ำหนักหรือปริมาณที่สัมพันธ์กับความโกรธของเรา ใช้มือทั้งสองของเราปลดปล่อยความโกรธลงไป จะบิด ทุบ ฉีก ปา ขยำขยี้ขนาดไหนก็ได้ ระหว่างทำลองเปล่งเสียงตามไปด้วยถ้าต้องการ ให้ดินช่วยซับพลังงานลบหรือของเสียในใจเรา

เมื่อเอาพลังงานลบออกมาจนหมดแล้ว ลองปั้นดินหรือเปลี่ยนรูปร่างของดินตามที่เราต้องการ เป็นการ Transform อารมณ์แย่ๆ เป็นความสร้างสรรค์ เป็นอันจบกระบวนการ

สิ่งที่ท้าทายที่สุดสำหรับการจัดการกับความกังวลคือ การรับรู้สาเหตุหรือที่มาที่ไปของความกังวล ยิ่งรู้ว่าความกังวลของเรามาจากไหน ก็ยิ่งรับมือกับมันได้ง่ายขึ้น

ลองใช้เวลาสั้นๆ ประมาณ 5-10 นาที นั่งในท่าสบาย หลับตา และลองฟังเสียงความกังวล โดยอาจเริ่มต้นจากการเงี่ยหูฟังเสียงข้างนอกรอบๆ ตัวเรา ลองถ่ายทอดมันลงบนกระดาษ อาจจะเป็นการเขียนหรือวาด
จากนั้นลองย้ายจุดโฟกัสมายังภายใน ฟังความกังวลลึกๆ ที่มาจากเราเอง เราได้ยินเสียงอะไรจากข้างในตัวเองบ้าง ลองเล่ามันออกมาผ่านหน้ากระดาษเช่นกัน

เมื่อความกังวลถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพ เราก็จะเริ่มเห็นที่มาที่ไปของมันได้ชัดเจน และทำงานกับมันได้ตรงจุดมากขึ้น

การต้องกักตัวในช่วงที่ผ่านมาคงทำให้หลายคนรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว หรืออาจมีภาวะโหยหาการสัมผัส หรือ ‘Touch Deprivation’ ทำให้รู้สึกว่าชีวิตว่างเปล่าและไม่ปลอดภัย

การมอบสัมผัสให้ตัวเอง หรือ ‘Self-Touch’ เป็นกระบวนการหนึ่งที่ช่วยบรรเทาความรู้สึกเหล่านั้นได้ ลองเริ่มจากการสัมผัส ใช้นิ้วแตะกระตุ้นผิวหนัง นวดไปตามเนื้อตัว และลองกอดตัวเราเองอย่างอ่อนโยน หรืออาจลองใช้ น้ำอุ่นช่วย ด้วยการหากะละมังใหญ่ๆ ที่สามารถเท้าแขนทิ้งน้ำหนักลงไปได้ เทน้ำอุ่น จากนั้นจุ่มมือทั้งสองข้างลงไป ลองให้สองมือสัมผัสกันอย่างอ่อนโยน อุณหภูมิจากน้ำอุ่นบวกกับสัมผัสที่เรามอบให้ตัวเองช่วยชดเชยความรู้สึกปลอดภัยและคลายความรู้สึกโดดเดียวได้ไม่มากก็น้อย

Next
Next

เทคนิค ‘เทคแคร์ร่างกาย’ หลังผ่านช่วงหนักๆ